เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 4 กุมภาพันธ์ 2565 โดย นางสาวกิ่งกานต์ สาริวาท จำนวนผู้เข้าชม 2594 คน
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชษฐ ทิพย์ประเสริฐ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วย ดร.ชไมพร รัตน์เจริญชัย รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณภัทร ทิพย์ศรี ที่ปรึกษาผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และบุคลากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย เข้าร่วมกิจกรรมตรวจหาสารพิษตกค้างในกระแสเลือดสำหรับผู้ผลิตและผู้บริโภค ครั้งที่ 2 และกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้เรื่องการทำสวนผักในเมือง ในโครงการวิจัยการพัฒนาเมืองและชุมชนสู่ความยั่งยืนบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว "เชียงรายเมืองเกษตรกร สีเขียว อาหารปลอดภัย" โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย ร่วมเป็นประธานเปิดงาน พร้อมกันนี้ได้จัดให้มีการจัดทำแปลงเกษตรปลอดภัยในโรงเรียนเทศบาล 8 นครเชียงราย โดยคาดว่าในอนาคตโรงเรียนในเขตเทศบาลนครเชียงรายจะจัดให้มีการปลูกผักเพื่อใช้ในการทำอาหารให้แก่นักเรียนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในอาหารให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง ในการนี้ได้เปิดหน่วยบริการตรวจหาสารพิษตกค้างในกระแสเลือดโดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการเข้ามาตรวจสอบสารเคมีในกระแสเลือด โดยผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือดจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคและผู้ผลิตอาหาร ซึ่งผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือดจะทราบถึงระดับสารเคมีที่มีอยู่ในกระแสเลือดว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใดเพื่อให้ผู้บริโภคได้ดูแลสุขภาพเลือกรับประทานอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมี ณ โรงเรียนเทศบาล 8 จังหวัดเชียงราย
สำหรับโครงการวิจัยการพัฒนาเมืองและชุมชนสู่ความยั่งยืนบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว "เชียงรายเมืองเกษตรกร สีเขียว อาหารปลอดภัย" นี้ เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงราย ดำเนินโครงการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ ประชาชนในเขตเทศบาลนครเชียงราย ได้รับประทานผักที่มีความปลอดภัยจากสารพิษสารเคมีตกค้าง ทีเกษตรกรใช้ในการดูแลรักษาพืชผัก ทางทีมงานวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย จึงได้ลงพื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการปลูกผักในเมือง เนื่องจากพื้นที่ในเมืองนั้น มีพื้นที่ในการทำการเกษตรได้น้อยและได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ร่วมกันกับเทศบาลนครเชียงรายในการหาพื้นที่ในการปลูกผักปลอดสารเคมีในเมือง รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจหาสารเคมีตกค้างในกระแสเลืดของคนในชุมชนเทศบาลนครเชียงราย ทั้งก่อนและหลังจากเข้าโครงการ ในภาคผู้บริโภคแลเกษตรกร เพื่อตรวจสอบระดับสารเคมีตกค้างในกระแสเลือด แล้วกำหนดพื้นที่ชุมชนที่เป็นชมชนนำร่องการทำเกษตรปลอดสาร อาทิ ชุมชนดอยสะเก็น ชุมชนฝั่งหมิ่น ชุมชนเด่นหา เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ได้เข้าไปให้ความรู้เรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษในเมือง และส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับมาตรฐาน GAP อีกด้วย
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา