โลโก้เว็บไซต์ ประวัติความเป็นมา | คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร

ประวัติความเป็นมา


          เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ขึ้นแทน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โดยให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแต่ละแห่งเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และในกฎกระทรวงศึกษาธิการ ตามประกาศกฎกระทรวงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 118 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยแบ่งออกเป็น 4 คณะ คือ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์

          คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เป็นส่วนราชการหนึ่งใน 14 ส่วนราชการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศในกฎกระทรวง ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 โดยมีคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบภารกิจด้านการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ รับผิดชอบภารกิจการศึกษาในระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา โดยมีภารกิจหลัก ด้านการเรียนการสอน ด้านงานวิจัย ด้านการบริการวิชาการ ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ด้านบริหารจัดการ ตลอดจนด้านอัตลักษณ์

           คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เป็น 1 ใน 4 คณะแรกตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโทแบ่งออกเป็น 4 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาพืชศาสตร์ สาขาสัตวศาสตร์และประมง และสาขาอุตสาหกรรมเกษตร

          ต่อมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้กำหนดส่วนราชการอื่นให้สอดรับกับภารกิจด้านการเรียนการสอน สายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร โดยได้จัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ในเขตพื้นที่เชียงราย ตาก น่าน พิษณุโลก และลำปาง และรองอธิการบดีในเขตพื้นที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบภารกิจด้านการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่มีหลักสูตรเพื่อการเรียนการสอน จัดตั้งให้เป็นสำนักงานสาขาวิทยาศาสตร์ เพื่อประสานงานกับคณะที่อยู่ส่วนกลาง

ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา