โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา จับมือ สอวช. นำร่องพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) Kickoff นโยบาย “อว. For EV” เพื่อเป็นต้นน้ำสู่การแก้ปัญหาโลกร้อน และลดฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างยั่งยืน | คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร

มทร.ล้านนา จับมือ สอวช. นำร่องพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) Kickoff นโยบาย “อว. For EV” เพื่อเป็นต้นน้ำสู่การแก้ปัญหาโลกร้อน และลดฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างยั่งยืน

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 11 กรกฎาคม 2567 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 1427 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

 

มทร.ล้านนา ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)จัดประชุมและศึกษาดูงานภายใต้แผนพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) พร้อมเป็นหน่วยงานหลักในการผสานความร่วมมือกับ เครือข่าย มทร. อีก 8 แห่งทั่วประเทศ และภาคเอกชนเข้ามาร่วมการขับเคลื่อน นโยบาย “อว. For EV” โดย รมว.อว. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี

วันที่ 11 กรกฏาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร พัชรประกิติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระศักดิ์ สมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน ที่ปรึกษาอธิการบดี และนายนริศ กำแพงแก้ว ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ให้การต้อนรับ ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์   นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะทำงาน ดร.ชาญวิทย์ อุดมศักดิกุล นักยุทธศาสตร์ 1 และ ดร.สุจินต์ พูลบุญ นักพัฒนานโยบาย ในโอกาสเดินทางเข้าประชุมและศึกษาดูงานภายใต้แผนพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) ณ ห้องประชุม อาคาร S1 วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อถ่ายทอดแนวทางการดำเนินงานตามแผนงานสำคัญ (Flagships) ของกองทุน ววน. ที่มีการปรับปรุงเป้าหมายตามแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และนโยบายการผลักดันแผนงานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า  ของกระทรวง อว.  ได้แก่ 1. EV-HRD การพัฒนาทักษะกำลังคน เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 2. EV-Transformation การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 3. EV-Innovation การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายเดินทางเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย นายสุภกิจ ชัยเมืองแสน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นายอาทร คุ้มฉายา ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี นายมนูญ นาจวง ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ นายราเมศ สุขาภิบาล วิศวกรชำนาญการ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา และนางสาวจินตนันท์ ชันไชย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ อุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน

          ซึ่งภายหลังการเสร็จสิ้นการประชุมดังกล่าวแล้วได้มีการเดินทางเพื่อเข้าศึกษาดูงานและหารือแนวทางการพัฒนากำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV, EV-BUS, และ EV-Truck) กับองค์กรภาคเอกชนประกอบด้วย บริษัท อีซียู ช๊อบ จำกัด บริษัทชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด (กรีนบัส) และ บริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด

          สำหรับการจัดการประชุมและศึกษาดูงานภายใต้แผนพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD)ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบหมายให้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินการและให้การสนับสนุน โดยได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและเครือข่ายความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่สามารถผสานความร่วมมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีก 8 แห่ง ทั่วประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการในภาคเอกชน เข้ามาขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะกำลังคน โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV-HRD ผ่านการสร้างและพัฒนา UP SKILL, RE SKILL และ NEW SKILL จำนวน 150,000 คนภายใน 5 ปี และพัฒนากำลังคนวัยทำงานและกำลังคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวน 5,000 คนต่อปี นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จะได้นำองค์ความรู้จากการค้นคว้า วิจัย และทักษะการปฏิบัติงานของคณาจารย์และนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เข้ามาร่วมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในกระทรวง อว. เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม EV ยกระดับคุณภาพชีวิตในหลายมิติ และมีความเชื่อว่านโยบายทั้ง 3 แผนงานนี้ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น EV HUB ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และก้าวไปสู่เป้าหมายการผลิตยานยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี ตามเป้าหมายรัฐบาล ซึ่งนอกจากช่วยยกระดับความความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการแล้ว ยังช่วยลดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน และกำลังจะกลายเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต หากไม่เร่งช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมด ตามนโยบาย “อว. For EV” ของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อไป








ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon