โลโก้เว็บไซต์ กสศ. พบผู้บริหาร มทร.ล้านนา ประชาสัมพันธ์ทุนพัฒนาเต็มศักยภาพ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนากระบวนการดูแลผู้รับทุนและสร้างโอกาสทางการศึกษา | คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร

กสศ. พบผู้บริหาร มทร.ล้านนา ประชาสัมพันธ์ทุนพัฒนาเต็มศักยภาพ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนากระบวนการดูแลผู้รับทุนและสร้างโอกาสทางการศึกษา

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 2 สิงหาคม 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 6559 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

           วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 รศ.ดร.ธีระศักดิ์ อุรัจนานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา พร้อมด้วย ผศ.สมเกียรติ วงษ์พานิช รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และ ผศ.ดร.ฐิติพร พันธุ์ท่าช้าง ผู้ช่วยอธิการบดี  และคณะผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมต้อนรับผู้บริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดย นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร และ นพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. ในโอกาสที่ เข้าพบคณะผู้บริหารจากสถานศึกษา เพื่อแนะนำทุนพัฒนาเต็มศักยภาพ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ”ทั้งนี้ได้มีการหารือแนวทางดูแลผู้รับทุน และสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษา โดยในโอกาสนี้ได้มีคณาจารย์จาก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้รับทุนพระกนิษฐาสัมมนาชีพ เข้าร่วมการประชุมหารือ เพื่อนำข้อมูลไปหนุนเสริมและพัฒนากระบวนการดูแลผู้รับทุนและสร้างโอกาสและประชาสัมพันธ์โครงการทุนให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการต่อไป

            โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ "ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ" เป็นโครงการที่ส่งเสริมโอกาสทางศึกษาต่อเต็มศักยภาพให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้ใกล้จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. หรืออนุปริญญาสายอาชีพให้ได้รับโอกาสทางศึกษาและการพัฒนาต่อเต็มศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ทั้งนี้การศึกษาต่อในแต่ละระดับจะมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการศึกษาต่อโดย “ทุนพระกนิษฐาสมัมาชีพ” เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทุนนี้เป็นทุนแรกของประเทศไทยที่เติมเต็มโอกาสให้แก่เด็กช้างเผือกสายอาชีพ/อาชีวศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาทุนมนุษย์ โดยสร้างโอกาสให้เยาวชน อายุ 15-24 ปี ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ ควบคู่กับการพัฒนาทุนมนุษย์สายอาชีพให้มีคุณภาพสูง และแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น
 

ขอบคุณข้อมูล /ภาพ ผศ.ดร.ฐิติพร พันธุ์ท่าช้าง ผู้ช่วยอธิการบดี







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon