เผยแพร่เมื่อ : พุธ 12 กรกฎาคม 2560 โดย น้ำฝน สุทธิกุญชร จำนวนผู้เข้าชม 4427 คน
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ได้ทำการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ปลาเลียหิน หรือ ปลามัน เพื่อการอนุรักษ์และความมั่นคงทางด้านอาหาร มาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์อมรชัย ล้อทองคำ และอาจารย์เชาวลีย์ ใจสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประมง ซึ่งในปี พ.ศ. 2560 นี้ ได้ทำการเพาะขยายพันธุ์ปลาเลียหินแบบบูรณาการร่วมกันทั้งงานวิจัย งานบริการวิชาการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยชุมชนมีส่วนร่วม ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง การพัฒนาแหล่งเรียนรู้และการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นของชุมชนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จังหวัดน่าน ภายใต้แผนงานวิจัย เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางด้านอาหาร : ลุ่มน้ำน่าน (ปีที่ 5) ซึ่งชุมชนต้นน้ำ ได้แก่ ชุมชนในลุ่มน้ำว้าตอนบน ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ได้ดำเนินการระหว่างวันที่ 16-21 มิถุนายน 2560 พื้นที่กลางน้ำ คือ ชุมชนลุ่มน้ำกอน ตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ได้ดำเนินการระหว่างวันที่ 23-30 มิถุนายน 2560 และพื้นที่ปลายน้ำ ได้แก่ ชุมชนลุ่มน้ำย่าง ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน ได้ดำเนินการะหว่างวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2560 ซึ่งแต่ละชุมชนต่างประสบปัญหากับการลดลงของปลาเลียหินในแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งสิ้น จากการดำเนินการทั้งสามพื้นที่สามารถผลิตและปล่อยลูกปลาเลียหินลงสู่ลุ่มน้ำในสามพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 700,000 ตัว ซึ่งคนในชุมชนต่างให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้นำชุมชนต่างๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับคณะทำงานของมหาวิทยาลัย ทำให้มีความเข้าใจในการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น ซึ่งหากได้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้ปลาเลียหินในแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนปลาเลียหินในแม่น้ำกอน และน้ำว้าในเขตตำบลดงพญามีมากขึ้น โดยดูจากการจับปลาชนิดนี้ได้จำนวนเยอะขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพื้นที่ทั้งสองได้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมาหลายปีต่อเนื่อง นอกจากนี้ในการดำเนินการครั้งนี้ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การเพาะขยายพันธุ์ปลาเลียหินแบบชุมชนมีส่วนร่วมให้กับอาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประมง พื้นที่พิษณุโลกและลำปางด้วย ซึ่งทั้งสองพื้นที่สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการประกันคุณภาพหลักสูตรด้วย คณะทำงานขอขอบคุณผู้นำชุมชน คนในชุมชนทุกชุมชนที่ให้ความสนใจและร่วมมือดำเนินกิจกรรมจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา