เผยแพร่เมื่อ : พุธ 22 พฤษภาคม 2567 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 8810 คน
วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มอบหมายให้อาจารย์อัคค์สัจจา ดวงสุภาสิญจ์ ผู้ช่วยอธิการบดี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยปฐมพร ธนพัฒน์ปวงวัน ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมศึกษา นำคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา จัดขบวนแห่รับเครื่องสักการะและอัญเชิญน้ำสรงพระบรมธาตุดอยสุเทพ พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผ้าไตรพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จากจุดที่ 9 (บริเวณจุดชมวิว) ไปยังจุดที่ 11 (บริเวณหอดูดาว) ขึ้นไปสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เพื่อประกอบพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุในวันวิสาขบูชา ในช่วงเช้าของวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 โดยตลอดเส้นทางมีพุทธศาสนิกชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เข้าร่วมกิจกรรมกันอย่างเนืองแน่นท่ามกลางสายฝนที่ตกมาเป็นระยะ
สำหรับประเพณีเตียวขึ้นดอย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในคืนก่อนวันวิสาขบูชา เป็นการอัญเชิญน้ำสรงพระราชทานขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ เพื่อประกอบพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุขณะที่ศรัทธาประชาชนจะเดินเท้าตั้งแต่ช่วงหัวค่ำไปตามถนนศรีวิชัย ซึ่งเป็นถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงถึงบริเวณวัด จากนั้นจะร่วมพิธีทำบุญตักบาตรในตอนเช้าเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนจะประกอบพิธีถวายน้ำสรงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผ้าไตรพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และเวียนเทียนรอบพระบรมธาตุ เนื่องในวันวิสาขบูชา โดยเชื่อกันว่าการเดินขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารบนถนนสายบุญสายนี้ เป็นการเดินเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและสืบสานประเพณีและยังได้บุญใหญ่ ซึ่งประเพณีเตียวขึ้นดอยในปี 2567 นี้ มีหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มประชาชน พากันมาออกโรงทาน แจกจ่ายอาหารและน้ำดื่มให้กับผู้ที่มาร่วมเดินขึ้นดอยกว่า 200 โรงทานตลอดทางขึ้นดอย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญ และในช่วงเช้าของวันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2567 นักศึกษาจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนจะร่วมกันเดินเก็บขยะบนถนนศรีวิชัยตลอดสายเพื่อคืนความสะอาดให้เส้นทางบุญ
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา