เผยแพร่เมื่อ : พุธ 6 กันยายน 2566 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 779 คน
คณะบริหารและศิลปศาสตร์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง (มทร.ล้านนา ลำปาง) จัดอบรมหลักสูตรอาชีพระยะสั้นแก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนแม่ทะวิทยา เพื่อส่งเสริมประสบการณ์และสร้างทักษะผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นเยาว์ ระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน- 29 สิงหาคม 2566 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัญจพร ศรีชนาพันธ์ รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ อาจารย์และนักศึกษา ร่วมพิธีปิด “กิจกรรมหลักสูตรส่งเสริมอาชีพระยะสั้น โรงเรียนแม่ทะวิทยา” และส่งมอบเงินทุนต่อยอดอาชีพแก่นายผจญ ภักดีวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่ทะวิทยา เพื่อบริหารจัดการต่อไป
อาจารย์คนึงนุช สารอินจักร์ ผู้ประสานงานหลักสูตรฯ ว่า หลักสูตรส่งเสริมอาชีพระยะสั้นนี้ เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ของคณะบริหารและศิลปศาสตร์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา ลำปาง มีจุดเริ่มต้นจากชุดวิชา “ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นเยาว์” ที่ทางโรงเรียนแม่ทะวิทยามีความต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่นักเรียน เพื่อให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน และตอบสนองแนวคิดการพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทั้งภาคความรู้ทักษะ ส่งเสริมประสบการณ์ในกลุ่มทักษะการบริหารธุรกิจที่จำเป็น โดยการวางแผนการบริหารจัดการ การใช้ระบบการตลาดนำการผลิต การขายสินค้าเกษตรในรูปแบบทั่วไป และการทำตลาดดิจิทัล รวมถึงนวัตกรรมการจัดการเกษตรสมัยใหม่
สำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตรประกอบด้วย 2 ฐาน การเรียนรู้ โดยผู้เรียน 110 คน จะเวียนฐานการเรียนรู้ประกอบด้วย ฐานการเรียนรู้ที่ 1 การเลี้ยงไส้เดือน การผลิตชีวภัณฑ์ทางการเกษตร การทำปุ๋ยหมักใบไม้ และการบริหารจัดการฟาร์ม และการทำบัญชีฟาร์ม ฐานการเรียนรู้ที่ 2 การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ การผลิตขนมถ้วยฟูเห็ดนางฟ้า ขนมหัวเราะ บานาน่าเฟรนฟราย น้ำมะม่วงสุกพร้อมบริโภค และการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร จัดการเรียนการสอนโดยอาจารย์คณะบริหารและศิลปศาสตร์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา ลำปาง ทุกวันอังคาร เวลา 13.30-15.30 ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน- 29 สิงหาคม 2566 ฐานการเรียนรู้ละ 4 ครั้ง ซึ่งผลผลิตที่ได้จากกิจกรรมฯ จะจัดหน่ายภายใต้แบรนด์ “Dek แม่ทะวิทยา” โดยมีผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย มูลไส้เดือน จุลินทรีย์นมสด น้ำหมักมูลวัว จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง อาหารและขนมจากผลผลิตทางการเกษตร ผู้ประสานงานหลักสูตรฯ กล่าวในตอนท้าย
ข่าว : จารุวรรณ สุยะ
ภาพ/ที่มาของข่าว : อาจารย์คนึงนุช สารอินจักร์
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา