เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 13 กรกฎาคม 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 44112 คน
บทอาศิรวาทถวายพระพรชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วันที่ 28 กรกฎาคม 2566
ขอเดชะ ฝ่าละออง ธุลีพระบาท บรมนาถ พระจักรี ศรีสยาม
วชิรเกล้า เจ้าอยู่หัว เรืองพระนาม ทุกโมงยาม ร่มเย็นด้วย พระบารมี
ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจ โดยตลอด ทุกถิ่นที่
เพื่อพสก นิกรไทย ได้อยู่ดี ด้วยเพราะองค์ พระภูมี คือจอมธรรม
ยี่สิบแปด กรกฎา มหาสวัสดิ์ เฉลิมพระชนม์ พระทรงฉัตร จรัสล้ำ
ขออัญเชิญ คุณพระรัตนไตร จงน้อมนำ ให้จอมธรรม เกษมสุข ทุกทิวา
นิราศร้าง ห่างภัย โรคาพาธ พระภูวนาถ เจริญพระชนม์ ร้อยพรรษา
เป็นมิ่งขวัญ ผองไทย ทั่วอาณา จอมกษัตริย์ตรา ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ด้านการศึกษา ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในระดับอนุบาล รุ่นที่ 2 จากโรงเรียนจิตรลดา จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นทรงศึกษาต่อวิชาทหาร แล้วต่อในระดับปริญญาตรี สาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) ประเทศออสเตรเลีย แล้วเสด็จนิวัติประเทศไทยเพื่อทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 โดยเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และปี พ.ศ. 2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพในหลายๆด้าน ทรงมีพระอัธยาศัยรักการผจญภัย ทั้งการทรงม้า ฟุตบอล รักบี้ฟุตบอลและเรือพาย รวมทั้งยังสืบทอดพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงโปรดปรานการเป่าแซกโซโฟนมากเป็นพิเศษ และทรงดนตรีร่วมกับพระราชบิดาอยู่บ่อยครั้ง
พระอัจฉริยภาพ:ด้านการทหาร
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยด้านอากาศยานและการบินมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน แคนเบอร์รา ออสเตรเลีย และด้านการบินเป็นพิเศษ จนได้รับการขนานนามว่า “กษัตริย์นักบิน” โดยเฉพาะเครื่องบินพาณิชย์ในตำแหน่งนักบินที่ 1 พระองค์ทรงพระปรีชาชาญในวิทยาการด้านการบิน ทรงรอบรู้เทคนิคสมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เคยทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และทรงชนะเลิศการแข่งขัน เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2530 ทรงได้รับใบอนุญาตครูฝึกภาคอากาศและผู้ตรวจสอบนักบินสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ทรงผ่านการฝึกบินด้วยเครื่องบินใบพัด แบบมาร์คเคตตี้ของฝูงขั้นปลาย โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ และการฝึกบินด้วยเครื่องบินไอพ่น แบบ ที 33 และหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงกับเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ 5 อี/เอฟ ของกองบิน 1 ฝูงบิน 102 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการบินในฐานะนักบินโบอิ้ง 737 - 400 จากบริษัท การบินไทย จำกัด ( มหาชน ) และทรงผ่านการตรวจสอบจากการขนส่งทางอากาศ ทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก เมื่อปีพ.ศ. 2548 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรกัปตัน จากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายตำแหน่งนักบินที่ 1 ในพ.ศ. 2549 ทั้งนี้ ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 อย่างดีเยี่ยมสม่ำเสมอ รวมชั่วโมงบิน 3,000 ชั่วโมงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 กรมการขนส่งทางอากาศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใบรับรองในตำแหน่งครูฝึกภาคอากาศกับตำแหน่ง ครูฝึกเครื่องช่วยฝึกบิน สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 737 – 400 ทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทหาร โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของปวงชนชาวไทย
พระราชกรณียกิจ : ด้านการศึกษา
ด้วยทรงตระหนักในคุณค่าและความสําคัญของการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ จึงทรงสนับสนุนการศึกษาแก่ประชาชน ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร โดยมีพระราชดำริให้ดำเนิน ‘โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อปี 2552 โดยมีพระมหากรุณาธิคุณให้นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล มาสร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา
ต่อมาในปี 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้ง ‘มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร‘ (ม.ท.ศ.) โดยทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสืบต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศที่มีผลการเรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม แต่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนที่ได้รับทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ไปแล้ว รวม 13 รุ่น มากกว่า 2,000 ราย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีไปแล้วรวม 6 รุ่น จำนวนเกือบ 700 ราย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสนับสนุนให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิดีทัศน์ และในด้านการอุดมศึกษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ แทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ
พระราชกรณียกิจ : ด้านศาสนา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจริญรอยตามสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราช แห่งมหาจักรีราชวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยเกื้อหนุน เกื้อกูล เผยแผ่ และธำรงไว้ซึ่งการสืบทอดพระพุทธศาสนา ดังภาพที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ด้านศาสนา อันเป็นเป็นภาพที่ซาบซึ้งใจของราษฎรชาวไทยทุกหมู่เหล่าเรื่อยมา
เมื่อเดือนเมษายน 2565 ทรงพระดำเนินขึ้น-ลงพระบรมบรรพต (เจดีย์ภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ทางบันไดจำนวน 688 ขั้น เพื่อทรงห่มผ้าองค์พระเจดีย์บรมบรรพต และสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ แม้เส้นทางที่ทรงพระดำเนินทางบันไดแต่ละขั้นจะเต็มไปด้วยความลาดชันด้วยความสูงจากฐานถึงยอด 63.6 เมตร หากแต่ด้วยพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยความศรัทธาในพระบวรพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงพระดำเนินขึ้นสู่ด้านบนพระเจดีย์บรมบรรพต ด้วยพระพักตร์อันสดใส
นอกจากนี้ ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อาทิ ทรงประกอบพิธียกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระประธานพระวิหาร ‘พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง’ ณ วัดมหาวนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อให้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวอุบลราชธานี และถวายเป็นพุทธบูชา, ทรงเปิดแพรคลุมป้าย “เจดีย์อัฐบริขารเขมาภิรโต” และทรงประกอบพิธีสมโภช ‘พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย’ ณ วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เป็นต้น รวมทั้งเสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ
พระราชกรณียกิจ : ด้านสาธารณสุข
ทรงตระหนักว่าการมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และสามารถทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ พระองค์จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือและแนวพระราชดำริการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขเรื่อยมา โดยนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด พร้อมพระราชทานพระบรมราโชบายในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ด้วยทรงห่วงใยประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์
อีกทั้งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานรถเก็บตัวอย่าง ชีวนิรภัย จำนวน 36 คัน, รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ จำนวน 5 คัน, รถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลจำนวน 2 คัน รวมทั้งรถต่อพ่วงชีวนิรภัย จำนวน 6 คัน เพื่อปฏิบัติงานเชิงรุกภาคสนามในการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง พระราชทานชุด PPE แบบเสื้อคลุมกันน้ำชนิดใช้ครั้งเดียว ชุด PPE แบบชุดหมีกันน้ำชนิดใช้ครั้งเดียว และชุด PPE แบบเสื้อคลุมกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ จำนวน 3 รุ่น รวม 700,000 ตัว และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 122 ล้านบาท ในการจัดหารถยนต์และอุปกรณ์การแพทย์ดังกล่าว เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ
พระราชทานรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัล คันแรกในประเทศไทยที่มีระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ทันสมัยที่สุด ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางการแพทย์ในการป้องกันดูแลสุขภาพอนามัยประชาชนอย่างครบวงจร อีกทั้งยังรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19
พร้อมกันนี้ยังพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สมทบทุนและจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างเท่าเทียมกัน อาทิ พระราชทานทรัพย์ จำนวน 100 ล้านบาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช, พระราชทานทรัพย์ จำนวน 2,407,144,487.59 บาท แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ และสถานพยาบาล 27 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์สื่อสารแก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี, โรงพยาบาลบันนังสตา จ.ยะลา, โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก และโรงพยาบาลแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
น้ำพระราชหฤทัยยังแผ่ไปถึงผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ ในการพระราชทานทรัพย์ จำนวน 345 ล้านบาทแก่ เรือนจำ ทัณฑสถาน และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโครงการ ‘ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติศาสน์ กษัตริย์’ ให้ความช่วยเหลือพสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แม้เป็นผู้ต้องขังแต่ต้องเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ตามหลักมนุษยธรรมและสอดคล้องกับข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับงานราชทัณฑ์ ข้อกำหนดแมนเดลา และข้อกำหนดกรุงเทพฯ ที่เป็นข้อกำหนดของสหประชาชาติ
การบริหารจัดการน้ำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ ‘โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง’ ของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤติภัยแล้ง จำนวน 15 แห่ง ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนมศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และพัทลุง ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทุกพื้นที่ จะมีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 37,600 ครัวเรือน หรือ 143,000 คนครอบคลุมพื้นที่กว่า 557,000 ไร่ ปริมาณน้ำรวม 11.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยประหยัดรายจ่ายให้ประชาชนกว่า 500 ล้านบาทต่อปี จากการมีน้ำดื่มสะอาดไว้บริโภค
ในการนี้ เมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 พระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ซึ่งได้รับการขนานนามว่า ‘อีสานภาคกลาง’ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา และเป็นพื้นที่เงาฝน ไม่มีระบบชลประทาน ประชาชนในหนองฝ้ายต้องจ้างรถบรรทุกน้ำ สำหรับใช้อุปโภคบริโภค บางคนไม่มีน้ำใช้ในการเกษตรหรือปศุสัตว์ ต้องเสียเงินเพื่อใช้ในการสูบน้ำจากบ่อเพื่อมาทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ชีวิตเป็นอยู่แสนยากเข็ญ
ด้านการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพบัติและความรุนแรง
ทรงทราบถึงความตั้งใจและความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแเดนภาคใต้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญสิ่งดอกไม้และสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเจ้าหน้าที่ที่สูญเสียชีวิตระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ และยังมีพระมหากรุณาธิคุณรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พร้อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบให้แก่ครอบครัวเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตยังถิ่นพำนัก เพื่อพระราชทานกำลังใจให้ครอบครัวผู้สูญเสียมีขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป
ภาพความเดือดร้อนแสนสาหัสของพสกนิกรเมื่อต้องประสบกับวาตภัยที่พัดพาบ้านเรือนสูญหาย หรือบ้านเรือนราษฎรที่มอดไหม้ไปกับกองเพลิงอันแสนดุร้าย มิได้อยู่ไกลจากสายพระเนตร ทันทีที่ความทุกข์ร้อนของราษฎรทราบยังฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้องคมตรี เชิญถุงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานไปมอบแก่ราษฎรผู้ที่กำลังประสบทุกข์ภัย พร้อมเชิญพระราชกระแสรับสั่งทรงห่วงใยไปกล่าวเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ราษฎรในพระองค์
ด้านสังคมสงเคราะห์
ทรงพระกรุณาห่วงใยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาส ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติด
ด้านการต่างประเทศ
ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีป เช่น ประเทศอิตาลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น อิหร่าน เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐเปรู ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นอกจากจะมุ่งเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและศึกษากิจการต่างๆ ที่จะทรงนำประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาประเทศไทย เช่น เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร ศิลปวัฒนธรรม อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน
โครงการในพระราชดำริ
ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร "เกษตรวิชญา"
“ เกษตรวิชญา ” เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร ที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ตามพระราชดําริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์บริเวณ บ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ตําบล โป่งแยง อําเภอ แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่มีเนื้อที่ จำนวน 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปดำเนินการในลักษณะเป็นคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดําริในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน เป็นศูนย์ฝึกอบรม และวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้เกิดเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติและมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแบบอย่างยั่งยืนตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยดำเนินการเพาะชำกล้าไม้โตเร็วจำนวน 50,000 กล้า เพื่อแจกจ่ายให้ราษฎรนำไปปลูกขยายผลใช้ประโยชน์ในชุมชนและครัวเรือนปลูกป่าไม้ใช้สอย ไม้โตเร็ว จำนวน 120 ไร่ เพื่อให้ราษฎร มีพื้นที่ป่าไว้ใช้ประโยชน์เป็นถ่านฟืนหุงต้มอาหาร และดำเนินกิจกรรมส่งเสริมราษฎรผลิตและ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล จำนวน 2 หมู่บ้านอีกทั้งจัดฝึกอบรมหลักสูตร “การผลิตและใช้เชื้อเพลิง อย่างมีประสิทธิภาพ” แก่ราษฎรเพื่อเรียนรู้การผลิตและนำเชื้อเพลิงจากวัสดุชีวมวลมาใช้สอยในชีวิตประจำวันและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น มีวัสดุเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ไม้ฟืน ลดปริมาณการใช้ไม้ฟืนจากป่าธรรมชาติเกิดการเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
พระอัจฉริยภาพ:ด้านกีฬา
กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “ปั่นเพื่อแม่ Bike for Mom” และ ปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad”
ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 , หนังสือ 63 พรรษามหาวชิราลงกรณ, สำนักงานศิลปวัฒนธรรม และข้อมูลบางส่วนจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ,โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ),(สำนักงานกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
ขอบคุณข้อมูลจาก : เวบไซต์ หน่วยราชการในพระองค์ www.royaloffice.th /เวบไซต์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 www.phralan.in.th/เวบไซต์ https://th.wikipedia.org/เวบไซต์ https://th.hellomagazine.com/
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา