เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 11 ตุลาคม 2565 โดย สกนธ์ เรืองฉาย จำนวนผู้เข้าชม 3106 คน
มทร.ล้านนาน่าน ร่วมกับ ซีพีน่าน จัดกิจกรรมกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) หัวข้อการใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาด (Green Energy) มุ่งปลูกฝังแนวคิดเยาวชนไทย ควบคู่กับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน ร่วมกับ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดกิจกรรมกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ในหัวข้อการใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาด (Green Energy) และจัดทำโมเดลนวัตกรรม โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 86 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในรายวิชากระบวนการคิดเชิงออกแบบและการแก้ปัญหา (Process of Thinking and Problem Solving) มีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังแนวคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการคิดเชิงสร้างสรรค์ สามารถออกแบบโมเดลสิ่งประดิษฐ์เพื่อเป็นแนวคิดต้นแบบ ต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน และสถานศึกษา ใน จ.น่าน โดยจัดขึ้นในระหว่างเดือนส.ค.-ต.ค.65 ที่ผ่านมานี้
โดยได้สนับสนุนทุนในการพัฒนาโมเดลนวัตกรรมของนักศึกษา ทั้งสิ้น จำนวน 12 โมเดล มูลค่า 12,000 บ.ซึ่งมี 4 โมเดลที่ได้รับรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศมูลค่า 5,000 บาท คือ โมเดลตู้อบผ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยนางสาวณิศวรา ดวงสอน นางสาวฐานิยา สมบูรณ์ นางสาววพรหมพร วิริยะ นายศุภเวช ชุติพฤกธิ์ และ นายยศกร วงศ์คำ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 มูลค่า 3,000 บาท คือ โมเดลถังหมักชีวมวล รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มูลค่า 2,000 บาท คือ โมเดลพลังงานจากการเคลื่อนไหวของมนุษย์ (Rechary Geable Shoes) และรางวัลชมเชย มูลค่า 1,000 บาท คือ โมเดล Smart Farmer
ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วิโรจน์ มงคลเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีน่าน ปฏิบัติราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วย คุณบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้มอบรางวัลและประกาศนียบัตรในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2565
ทั้งนี้ สำนักงานด้านความยั่งยืนฯ จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังคงขับเคลื่อนเป็นศูนย์รวมของความร่วมมือระหว่างประชาชน เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคการศึกษา เพื่อร่วมสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชน ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ ตอบโจทย์ความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดระบบการบริหารงานภายในชุมชน และมิติอื่นๆ อย่างครอบคลุมและยั่งยืน
ขอบคุณภาพและข่าว : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา