โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ร่วมประกอบพิธีวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2565 | คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร

มทร.ล้านนา ร่วมประกอบพิธีวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2565

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 11 กรกฎาคม 2565 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 2916 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

             วันที่ 11 กรกฎาคม 2565  ดร.ศิรประภา ชัยเนตร  ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมประกอบพิธีวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2565 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 11 กรกฎาคม เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยาโดยมีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประกอบพิธี ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

             สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นพระโอรสของพระเจ้าปราสาททอง และพระราชเทวีศิริธิดา เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอกตรงกับวันที่ 16 ก.พ. พ.ศ. 2175 เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12จุลศักราช 1018 ปีวอก ตรงกับวันที่ 15 ต.ค. พ.ศ. 2199 ขณะทรงเจริญพระชนมายุ 25 พรรษาโดยมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 3ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างความรุ่งเรืองและความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมากใน หลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศที่ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการติดต่อทั้งด้านการ ค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ ทั้งการแต่งตั้งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส และต้อนรับชาวต่างชาติให้เข้ามาในราชอาณาจักรและช่วยราชการหลายรายขณะเดียวกันพระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่จากต่างประเทศเข้ามา ประยุกต์ใช้ในราชอาณาจักรเช่นยุทโธปกรณ์ต่างๆ กล้องดูดาว รวมไปถึงเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ และการวางระบบท่อประปาภายในพระราชวัง

             นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์กวีคนสำคัญในยุคของพระองค์อย่างพระโหราธิบดีผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณีซึ่งถือเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก และศรีปราชญ์ ซึ่งมีผลงานด้านวรรณกรรมที่เป็นที่รู้จักมากมาย ทำให้ศิลปะแขนงดังกล่าวมีความรุ่งเรืองอย่างมากในยุคนั้น รวมทั้งยังโปรดเกล้าฯให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 ในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon