เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 1 เมษายน 2565 โดย สิริญญา ณ นคร จำนวนผู้เข้าชม 5703 คน
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร ร่วมพิธีถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชมนพรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี โดยประธานในพิธี เปิดกรวยดอกไม้ถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวถวายพระพรชัยมงคลเฉลิมพระเกียรติ และร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี จากนั้นนำผู้ร่วมพิธีร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคลเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ณ ศาลาราชมงคล มทร.ล้านนา
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 จวบจนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเขตพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานยังความปลื้มปิติอย่างยิ่ง เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่คณะผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรทุกหมู่เหล่า
วันที่ 22 มกราคม 2530 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการพิมพ์ระบบออฟเซท และระบบซิลด์สกรีน การถักทอ พิมพ์ภาพ ช่างทองรูปพรรณเซรามิก จิตรกรรมและประติมากรรมของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ (เจ็ดยอด)
วันที่ 30 มกราคม 2530 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมการของสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง การผลิตไวน์ผลไม้ไทย การผลิตเต้าเจี้ยว ซีอิ้ว การแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ แปลงวิจัยธัญพืชเมืองหนาว ฯลฯ
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมและติดตามโครงการวิจัยส่วนพระองค์ สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง
วันที่ 14 ธันวาคม 2549 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการตามแผนพัฒนาหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก
วันที่ 21 มกราคม 2551 เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ โดยนายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดีพร้อมคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษา เฝ้ารับเสด็จ และดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัย (ในขณะนั้น) ได้กราบบังคมทูลถวายรายงาน โครงการต่าง ๆ ดังนี้ โครงการฟักทองพันธุ์พระราชทานโอโตะ ศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โครงการสาธิตกระบวนการผลิตแจกันศิลปกรรมเฉลิมพระเกียรติ โครงการ (Digitized Thailand Project) และผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือผู้พิการ
ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์เพื่อจัดหารายได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2553 เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน
สนองงานตามแนวพระราชดำริ
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนองงานตามโครงการพระราชดำริ สู่การปฏิบัติก่อเกิดโครงการบริการวิชาการต่างๆเพื่อเป็นเวทีในการฝึกฝน เรียนรู้ ต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน สังคมและท้องถิ่น
5. ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการดำเนินการวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และเสด็จพระราชดำเนิน เปิดศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ณ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2552 เป็นต้นมา
จวบจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้เสด็จพระราชดำเนินติดตามผลการดำเนินงานในส่วนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อแจกจ่ายแก่เกษตรกรเป็นประจำทุกปี
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อพันธุ์พืช 3 ชนิด ประกอบด้วย ฟักทองผลเล็ก พันธุ์ลายข้าวตอก ทรงพระราชทานชื่อว่า "ฟักทองประกายดาวล้านนา" ผักกวางตุ้งดอก ทรงพระราชทานชื่อว่า “กวางตุ้งเหลืองล้านนา" และพันธุ์มะเขือเปราะ (เบอร์ 2) ว่า "มะเขือเปราะเพชรล้านนา"
โครงการหลวง
“ศูนย์ความร่วมมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเพื่อมูลนิธิโครงการหลวงและกิจกรรมวิชาการ” เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๕ ภายใต้กรอบการทำงาน “วิศวกรรม พลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่องานเกษตรกรรมพื้นที่สูง” (Engineering Energy and Environment for Agriculture : 3Es for A) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของโครงการหลวงและมูลนิธิโครงการหลวง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปมีพื้นที่ดำเนินการประกอบด้วยสถานีวิจัยและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงจำนวน 38 แห่ง ในเขตจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยาและลำพูน ใน 20 อำเภอ 275 หมู่บ้าน
วิทยา กวีวิทยาภรณ์ ถ่ายภาพ
สิริญญา ณ นคร เขียน
โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนา จังหวัดน่าน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ดำเนินการสนองงานโครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวไร่ เพื่อการบริโภคอย่างพอเพียงและทำการสำรวจความหลากหลายของชนิดปลาในลุ่มแม่น้ำว้า เพื่อพัฒนาศักยภาพปลาต้นน้ำน่านเชิงเศรษฐกิจเพื่อเป็นแหล่งอาหารอย่างยั่งยืนของชุมชนรวมถึงการออกแบบศูนย์วัฒนธรรมชนเผ่าฯ แสดงวิถีชีวิตของหลากหลายชาติพันธุ์ การออกแบบและสร้างสะพานข้ามลำน้ำมาง ให้มีความทนทาน ปลอดภัย เพื่อใช้สัญจรในการดำรงชีพ ของชนเผ่ามลาบรี ตลอดจนการศึกษาวิจัยพัฒนาภูมิปัญญาชนเผ่ามลาบรี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชนเผ่า โดยสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ครัวเรือน
เข้าชมภาพกิจกรรมเพิ่มเติม (https://www.facebook.com/media/set/?vanity=682631851747556&set=a.5342038139140214)
คลังรูปภาพ : 1 เมษายน 2565 (พิธีถวายพระพร 2 เมษายน)
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา