โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา เฝ้ารับเสด็จและรายงานผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าแบบผสมระหว่างพลังงานน้ำและแสงอาทิตย์ ศศช.เลอะกรา อ.อมก๋อย เชียงใหม่  | คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร

มทร.ล้านนา เฝ้ารับเสด็จและรายงานผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าแบบผสมระหว่างพลังงานน้ำและแสงอาทิตย์ ศศช.เลอะกรา อ.อมก๋อย เชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 14 มกราคม 2565 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 2687 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

      วันที่ 13 มกราคม 2565 พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรติดตามการดำเนินงานการจัดการเรียนการสอน ของศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" ณ บ้านเลอะกรา ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
     ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและนักศึกษา เฝ้าร่วมรับเสด็จและถวายรายงานผลการดำเนินงานของโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานผสมระหว่างน้ำและแสงอาทิตย์ ภายในศูนย์ฯ ซึ่งระบบการผลิตไฟฟ้าแบบผสมระหว่างพลังงานจากน้ำและพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นผลงานการต่อยอดจากงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิศวกรรมเครื่องกล และสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงและตอบโจทย์ความต้องการศูนย์และชุมชนโดยรอบ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ ควบคู่กับการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประชาชนในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณตามยุทธศาสตร์งานบริการวิชาการสู่ชุมชน และการสนองงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  และบริษัทพาวเวอร์บายพร้อมด้วยบริษัทเครือข่าย โดยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้ 5 กิโลวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 2.25 กิโลวัตต์ สำหรับไฟฟ้าที่ผลิตได้จะใช้สนับสนุนการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา (ศศช.) บ้านเลอะกรา และระบบไฟส่องสว่างภายในครัวเรือน ไฟส่องสว่างถนนในหมู่บ้าน เครื่องสีข้าวขนาดเล็กประจำหมู่บ้าน ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในหมู่บ้าน ประมาณ 17,500 บาท ต่อเดือน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมมงคลล้านนาและภาคีเครือข่ายยังได้จัดทำระบบพลังงานแบบผสมในพื้นที่โครงการพระราชดำริอีกสองชุมชน ประกอบด้วยชุมชนบ้านปิพอ หมู่ 6 บ้านขุนตื่นน้อย หมู่ 6 ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยการดำเนินงานดังกล่าวของคณาจารย์และนักศึกษา ได้ยึดหลัก "มีน้ำ มีป่า ไฟฟ้าสว่าง" ภายใต้ศาสตร์แห่งพระราชา "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา"
      สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับหลักการทำงานของระบบไฟฟ้าแบบผสมพลังงานจากน้ำ และพลังงานจากแสงอาทิตย์ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ศรีธร อุปคำ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โทร.053-921444

ข้อมูล : กลุ่มวิจัยพลังงานชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา