เผยแพร่เมื่อ : พุธ 14 มิถุนายน 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 2605 คน
วันที่ 14 มิถุนายน 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ลงนามความร่วมมือร่วมกับ 20 หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน “โมเดลแก้จนลำปาง” สร้างโมเดลความช่วยเหลือการขจัดความยากจน ภายใต้ โครงการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง และโครงการกระบวนการมีส่วนร่วมยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสและคุณค่าร่วมทางสังคมของคนจนเป้าหมายพื้นที่วิจัยจังหวัดลำปาง ณ ห้องโอฬารรมย์ อาคารโอฬารโรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
บันทึกความร่วมมือครั้งนี้เป็นการจัดทำร่วมกันของสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 22 หน่วยงาน เพื่อร่วมมือกันในการขจัดความยากจนและสร้างโอกาสให้กับครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดลำปาง รวมถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่นำร่อง “โมเดลแก้จนลำปาง” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในจังหวัดลำปาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) บูรณาการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนให้ครอบคลุมในทุกมิติแบบองค์รวมและสามารถเข้าถึงการพัฒนาตนเอง พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จะดำเนินโครงการกระบวนการมีส่วนร่วมยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสและคุณค่าร่วมทางสังคมของคนจนเป้าหมายพื้นที่วิจัยจังหวัดลำปาง ด้วยการบูรณาการกับโครงการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง โดยประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสอบทาน และสังเคราะห์ปัญหา ศักยภาพครัวเรือนยากจน เป้าหมายในพื้นที่นำร่อง เพื่อนไปสู่การสร้างโมเดลความช่วยเหลือหรือ “โมเดลแก้จนลำปาง” ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม โดยการบูรณการกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการลดช่องว่างการเข้าถึงโอกาสด้านการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ และนวัตกรรมที่เหมาะสม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนดำเนินการในพื้นที่ 5 อำเภอประกอบด้วย อำเภอเถิน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอแม่เมาะ อำเภองาวและอำเภอเมืองลำปาง ซึ่งได้รับงบประมาณอุดหนุนงานวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอ.วช) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ขอบคุณภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
คลังรูปภาพ : mou โมเดลแก้จนลำปาง
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา